หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

ดาวทะเล

(ปลาดาวขนนกสีเหลือง.....เหมือนปะการังเลย -_-)
ดาวทะเล หรือที่เรียกกันติดปากว่า ปลาดาว (อังกฤษ: Starfish, Seastar) เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง ที่อยู่ในชั้น Asteroidea ลักษณะทั่วไป มีลำตัวแยกเป็นห้าแฉกคล้ายรูปดาวเรียกว่า แขน ส่วนกลาง มีลักษณะเป็นจานกลม ด้านหลังมีตุ่มหินปูน ขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป มีปากอยู่ด้านล่างบริเวณ จุดกึ่งกลางของ ลำตัว ใต้แขนแต่ละข้างมีหนวดสั้น ๆ เรียงตามส่วนยาว ของแขนเป็นคู่ ๆ มีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อที่เหนียวและแข็งแรงเรียกว่า โปเดีย ใช้สำหรับยึดเกาะกับเคลื่อนที่ มีสีต่าง ๆ ออกไป ทั้ง ขาว, ชมพู, แดง, ดำ, ม่วง หรือน้ำเงิน เป็นต้น พบอยู่ตามชายฝั่งทะเล โขดหิน และบางส่วนอาจพบได้ถึงพื้นทะเลลึก กินหอยสองฝา โดยเฉพาะ หอยนางรม, กุ้ง, ปู หนอน และ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ เช่น ฟองน้ำหรือปะการัง เป็นอาหาร
ดาวทะเล พบอยู่ในทะเลทั่วโลก ทั้ง มหาสมุทรแปซิฟิก, แอตแลนติก, มหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งในเขตขั้วโลกด้วยอย่าง มหาสมุทรอาร์กติก และแอนตาร์กติกา
ดาวทะเล ถึงปัจจุบันนี้พบอยู่ด้วยประมาณ 1,800 ชนิด กระจายอยู่ในอันดับต่าง ๆ 7 อันดับ (ดูในตาราง) ซึ่งดาวทะเลขนาดเล็กอาจมีความกว้างเพียง 1 เซนติเมตร และขนาดใหญ่ที่สุดอาจยาวได้ถึง 1 เมตร และในบางชนิดอาจมีแขนได้มากกว่า 5 แขน
สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย การปฏิสนธิเกิดภายนอกตัว ระยะแรกตัวอ่อนจะดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอนสัตว์ จากนั้นจะเริ่มพัฒนาตัวแล้วจมตัวลงเพื่อหาที่ยึดเกาะแล้วเจริญเป็นตัวเต็มวัย ส่วนการ สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ในบางชนิดเมื่อแขนถูกตัดขาดลง จะพัฒนาตรงส่วนนั้นกลายเป็นดาวทะเลตัวใหม่เกิดขึ้น และตัวที่ขาดก็จะงอกชิ้นใหม่ขึ้นมาได้จนสมบูรณ์ แต่กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาเป็นปี
การเคลื่อนที่ของดาวทะเล เนื่องจากดาวทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงแข็งที่ผิวนอก ไม่ได้ยึดเกาะกับกล้ามเนื้อ จึงมีระบบการเคลื่อนที่ด้วยระบบท่อน้ำ จากท่อวงแหวนจะมีท่อน้ำแยกออกไปในแขน เรียกท่อนี้ว่า เรเดียลแคแนล ทางด้านข้างของเรเดียลคาแนล มีท่อแยกไปยังทิวบ์ฟีต การยืดและหดของทิวบ์ฟิตจะเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง และมีความสัมพันธ์กันทำให้เกิดการเคลื่อนที่ไปได้
ดาวทะเลมีความสัมพันธ์ต่อมนุษย์ในแง่ ของการใช้ซากเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงาม อีกทั้งในบางวัฒนธรรมเช่น จีน มีการใช้ดาวทะเลเพื่อปรุงเป็นยา รวมทั้งใช้ปิ้งย่างเป็นอาหาร อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงภายในตู้ปลาเพื่อความเพลิดเพลินอีกด้วย

อ้างอิง :  http://th.wikipedia.org/wiki/



ม้านํ้า

ม้าน้ำ (อังกฤษ: Seahorse) เป็นปลากระดูกแข็งที่อาศัยอยู่ในทะเลจำพวกหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Hippocampinae (ซึ่งมีอยู่ 2 สกุล คือหนึ่งสกุลนั้นคือ ปลาจิ้มฟันจระเข้สัน ที่อยู่ในสกุล Histiogamphelus มีรูปร่างคล้ายปลาจิ้มฟันจระเข้ผสมกับม้าน้ำ) ในวงศ์ Syngnathidae อันเป็นวงศ์เดียวกับปลาจิ้มฟันจระเข้และมังกรทะเล ในอันดับ Syngnathiformes

ลักษณะ

ม้าน้ำ เป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ มีกระดูกหรือก้างมาห่อหุ้มเป็นเกราะอยู่ภายนอกตัวแทนเกล็ด ส่วนหางของแทนที่จะเป็นครีบสำหรับว่ายน้ำไปมาอย่างปลาชนิดอื่น กลับมีหางยาวเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน มีไว้เพียงเพื่อเกี่ยวยึดตัวเองกับพืชน้ำหรือปะการังในน้ำ มีครีบอกและมีครีบบางใสตรงเอวอีกครีบหนึ่งช่วยโบกพัดกระพือ โดยครีบทั้ง 2 นี้จะโบกพัดด้วยความเร็วประมาณ 20-30 ครั้งต่อวินาที ทำให้เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างช้า ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วม้าน้ำมักจะว่ายน้ำเป็นไปในลักษณะขึ้น-ลง มากกว่าไปมาข้างหน้า-ข้างหลังเหมือนปลาชนิดอื่น โดยถือเป็นปลาที่ว่ายน้ำช้าที่สุดในโลกอีกด้วย โดยว่ายได้เพียง 0.06 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น[3] ปากยื่นยาวคล้ายท่อไม่มีกราม ตรงปลายมีที่เปิด ใช้สำหรับดูดกินอาหาร จำพวกแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ด้วย เพื่ออำพรางตัว[4]
ม้าน้ำ เหมือนกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้ คือ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง โดยมีอวัยวะตรงบริเวณหน้าท้องคล้ายถุง ใช้สำหรับเก็บไข่และฟักเป็นตัว เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ม้าน้ำตัวผู้จะปรับเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อดึงดูดม้าน้ำตัวเมีย จากนั้นตัวผู้จะใช้หางโอบกอดตัวเมียพร้อมกับแอ่นท้องประกบกับท้องเข้าหากัน ตัวเมียจะออกไข่ใส่ลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ และม้าน้ำตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่และฟักเป็นตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้อง โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจำนวนไข่ประมาณ 100-200 ฟอง มากที่สุดคือ 1,500 ฟอง ตามแต่ละชนิด
เมื่อคลอด พ่อม้าน้ำก็จะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้องและพ่นลูกม้าน้ำทั้งหมดออกจากกระเป๋าหน้าท้อง โดยที่ม้าน้ำมีพฤติกรรมแบบคู่เดียวตลอดทั้งชีวิต กล่าวคือ จะจับคู่อยู่กันเพียงตัวเดียว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอันเป็นไป ก็จะไม่หาคู่ใหม่


ชนิด

ม้าน้ำ มีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร ตามแต่ละชนิด โดยขนาดเล็กเช่น ม้าน้ำจำพวกม้าน้ำแคระ จะมีความยาวเพียง 2.5 เซนติเมตรเท่านั้น มีการแพร่กระจายพันธุ์ในทะเลเขตอบอุ่นทั่วทั้งโลก ปัจจุบันพบทั้งหมด 47 ชนิด[6] ส่วนม้าน้ำที่พบได้ในน่านน้ำไทยมีประมาณ 6 ชนิด ได้แก่
  • ม้าน้ำหนาม (H. spinosissimus) อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำค่อนข้างลึกและสภาพน้ำค่อนข้างใส มีสีสันสวยงาม มักจะมีสีออกน้ำตาลแดง มีลายจุดสีออกขาว เป็นแถบกว้างคาดบริเวณลำตัว มีหนามมากค่อนข้างแหลมและยาว แต่มีขนาดเล็กกว่าม้าน้ำดำ
  • ม้าน้ำแคระ (H. mohnikei) มีขนาดเล็กที่สุด พบเห็นไม่บ่อยนัก ลำตัวตัวสีดำ อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง เกาะอยู่ตามสาหร่ายทะเล บริเวณที่เป็นพื้นทราย
  • ม้าน้ำหนามขอ (H. histrix) มีลักษณะที่แตกต่างไปจากชนิดอื่น คือ มีปากขนาดยาวกว่า มีหนามที่เหนือตาและมีส่วนหน้าที่ยาวอย่างเห็นได้ชัด มีหนามบนหัว หนามตามลำตัวและหางจะแหลม บริเวณปลายหนามจะมีสีดำเข้ม เมื่อเอามือไปสัมผัสจะรู้สึกว่าเกี่ยวติดมือ หนามที่หางมีความยาวเท่า ๆ กัน

    ความสำคัญต่อมนุษย์

    ม้าน้ำแห้งที่ใช้สำหรับทำยาจีน ในเมืองกวางโจว
    ม้าน้ำ เป็นปลาที่นิยมทำเป็นยาจีนตามตำราการแพทย์แบบจีน ด้วยเชื่อว่าบำรุงกำลังและเสริมสมรรถนะทางเพศ โดยจะทำไปตากแห้งและขายเป็นชั่งน้ำหนักขาย ทำให้ม้าน้ำทั่วโลกในปีหนึ่ง ๆ ถูกจับเป็นจำนวนมากเพื่อการนี้ และยังถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับอีก จนกลายทำให้เป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ในบางชนิด
    นอกจากนี้แล้ว ความที่เป็นปลาที่มีรูปร่างแปลก มีขนาดเล็กน่ารัก ทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงของผู้ที่นิยมการเลี้ยงปลาตู้ด้วย ซึ่งในปัจจุบัน มีม้าน้ำบางชนิดสามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว
    อ้างอิง :  http://th.wikipedia.org/wiki/

แมงกะพรุน

แมงกะพรุน หรือ กะพรุน[1] (อังกฤษ: Jellyfish, Medusa) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมไนดาเรีย ไฟลัมย่อยเมดูโซซัว แบ่งออกเป็นอันดับได้ 5 อันดับ (ดูในตาราง) ลักษณะลำตัวใสและนิ่มมีโพรงทำหน้าที่เป็นทางเดินอาหารมีเข็มพิษที่บริเวณ หนวดที่อยู่ด้านล่าง ไว้ป้องกันตัวและจับเหยื่อ เมื่อโตเต็มวัย ส่วนประกอบหลักในลำตัวเป็นน้ำร้อยละ 94-98 ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร พบได้ในทะเลทุกแห่งทั่วโลก
แมงกะพรุนส่วนใหญ่จัดอยู่ในอันดับไซโฟซัว แต่ก็บางประเภทที่อยู่ในอันดับไฮโดรซัว อาทิ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Physalia physalis) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก และแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Malo kingi) ที่อยู่ในอันดับคูโบซัว ก็ถูกเรียกว่าแมงกะพรุนเช่นกัน


รูปร่าง

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีลำตัวโปร่งใส ร่างกายประกอบด้วยเจลาตินเป็นส่วนใหญ่ สามารถมองเห็นเข้าไปได้ถึงอวัยวะภายใน เป็นสัตว์ที่ไม่มีทั้งสมองหรือหัวใจ[2] ลำตัวด้านบนของแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายร่ม เรียกว่า "เมดูซ่า" ซึ่งศัพท์คำนี้ก็ใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งของแมงกะพรุนด้วยเช่นกัน
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วกว่า 505 หรือ 600 ล้านปี[2][3] มีวงจรชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ


วงจรชีวิต

วงจรชีวิตของแมงกะพรุน
หลังจากผสมพันธุ์แล้ว แมงกะพรุนเมื่อได้ปฏิสนธิแล้ว หลังจากนั้นตัวอ่อนจะพัฒนาขึ้นมา มีลักษณะเหมือนขนหรือหนอนตัวเล็ก ๆ มีขนละเอียดรอบตัว เรียกว่า "ซิเลีย" จากนั้นจะพัฒนาไปเป็น "พลานูลา" จะคืบคลานไปหาที่ ๆ เหมาะสมเพื่อเกาะและเปลี่ยนรูปร่างกลายเป็น "โพลิป" ซึ่งมีสันฐานเหมือนดอกไม้ทะเลขนาดจิ๋ว คือ มีลำตัวที่เหมือนกับแจกันเกาะอยู่กับวัสดุต่าง ๆ ลำตัวหงายขึ้น โดยมีหนวดอยู่รอบปากด้านบน ซึ่งแตกต่างไปจากแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เมื่อโพลิปได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และจำเพาะก็จะเกิดการแตกหน่อซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ซึ่งคือ แมงกะพรุนขนาดเล็กที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จะหลุดและลอยไปตามกระแสน้ำ ที่เรียกว่า "อีฟีรา" หรือ "เมดูซ่า" มีลักษณะเหมือนแมงกะพรุนตัวเต็มวัย คือ ลำตัวคว่ำลง หนวดอยู่ด้านล่าง หากแมงกะพรุนในขั้นนี้ได้รับอาหารที่พอเพียง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะเจริญเติบโตกลายเป็นแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ต่อไปก็จะเข้าสู่วงจรเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง[1]

พิษ

แมงกะพรุนหลายชนิดมีพิษ โดยบริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นรอบปาก เรียกว่า "มีนีมาโตซีส" หรือเข็มพิษ ใช้สำหรับฆ่าเหยื่อ หรือทำให้เหยื่อสลบก่อนจับกินเป็นอาหาร ซึ่งโดยมากเป็น ปลา และใช้สำหรับป้องกันตัว ปริมาณของนีมาโตซีสอาจมีจำนวนถึง 80,000 เซลล์ ใน 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ภายในนีมาโตซีสนี้เองมีน้ำพิษที่เป็นอันตรายทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่น บวมแดง เป็นรอยไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเป็นแผลเรื้อรังได้ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับแมงกะพรุนแต่ละชนิด ในชนิด Chironex fleckeri ซึ่งเป็นแมงกะพรุนกล่องชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเซลล์เข็มพิษมากถึง 4-5,000,000,000 ล้านเซลล์ ในหนวดทั้งหมด 60 เส้น[5] [6] ซึ่งมีผลทางระบบโลหิต โดยไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิตลงได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม[2]

การจำแนกและคุณลักษณะ

แมงกะพรุนไฟ ที่จัดอยู่ในชั้นไซโฟซัว
โดยทั่วไปแล้ว แมงกะพรุนมีหลายชนิดที่สามารถรับประทานได้ โดยชาวประมงจะเก็บจากทะเล และผ่าออกทำการตากแห้งและหมักกับเกลือ, สารส้ม และโซเดียม[7] ก่อนจะนำออกขาย โดยประกอบอาหารได้หลายประเภท อาทิ ยำ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของเย็นตาโฟ ซึ่งแมงกะพรุนชนิดที่รับประทานได้ คือ แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema spp.) และ แมงกะพรุนจาน (Aurelia spp.) ซึ่งชาวจีนมีการรับประทานแมงกะพรุนมาไม่ต่ำกว่า 1,000 ปีแล้ว คุณค่าทางอาหารของแมงกะพรุน คือ มีโปรตีนสูงและแคลอรีต่ำ เป็นโปรตีนประเภทคอลลาเจนสามารถรับประทานได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคอลลาเจนจากแมงกะพรุนอาจจะมีส่วนรักษาโรคไขข้ออักเสบ และโรคหลอดลมอักเสบ ตลอดจนทำให้ผิวหนังนุ่มนวลด้วย [8]
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่พบได้ในท้องทะเลทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งส่วนที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็งเช่น มหาสมุทรอาร์กติก หรือในที่ ๆ ลึกเป็นพัน ๆ เมตรที่แสงสว่างส่องลงไปไม่ถึง คาดการว่ามีแมงกะพรุนทั้งหมดราว 30,000 ชนิด แต่ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดีราว 2,000 ชนิด และเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษราว 70 ชนิด ที่มีอันตรายต่อมนุษย์[2]
ขณะที่แมงกะพรุนชนิดที่มีพิษ จะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า แมงกะพรุนไฟ (Crysaora spp.) ส่วนใหญ่มีลำตัวสีแดงหรือสีส้ม จะมีพิษที่บริเวณหนวดที่มีน้ำพิษ ใช้สำหรับเพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ถูกต่อยได้ บริเวณที่ถูกต่อยนั้นจะปรากฏรอยคล้ายรอยไหม้เป็นผื่น จากนั้นในอีก 20-30 นาทีต่อมา จะบวมนูนขึ้นเป็นทางยาวตามผิวหนัง ต่อไปจะเกิดเป็นแผลเล็ก ๆ และแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง กล้ามเนื้อเกร็งและบังคับไม่ได้ จุกเสียด หายใจไม่ออก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสิ่งที่สามารถปฐมพยาบาลพิษของแมงกะพรุนไฟได้เป็นอย่างดี คือ ใบของผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae) ใช้ร่วมกับน้ำส้มสายชูขยี้บริเวณที่ถูกพิษ จะช่วยทุเลาอาการได้ และหากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาจำพวก แอสไพรินได้ ก่อนจะนำส่งสถานพยาบาล[9] หรือการปฐมพยาบาลแบบง่ายที่สุด คือ ใช้น้ำทะเลราด บริเวณที่ถูกต่อย เพื่อให้เข็มพิษของแมงกะพรุนนั้นหลุดไป จากนั้นจึงใช้น้ำส้มสายชูราดลงไป ก็จะทำลายพิษได้ ห้ามใช้น้ำจืดเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษกระจายตัวและออกมาจากถุงพิษมากขึ้น [10]
มีสัตว์บางประเภทที่ถูกเรียกว่า แมงกะพรุน เช่นกัน แต่พบอาศัยอยู่ในน้ำจืด คือ แมงกะพรุนน้ำจืด (Craspedacusta spp.) จัดเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำจืดของสหรัฐอเมริกาและทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ถูกจัดให้อยู่ในชั้นไฮโดรซัว[11]
แมงกะพรุนชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนขนสิงโต (Cyanea capillata) ที่เมื่อแผ่ออกแล้วอาจมีความกว้างได้ถึงเกือบ 3 เมตร และยาวถึง 37 เมตร ปรกติพบในอาร์กติก, มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือ
อ้างอิง :  http://th.wikipedia.org/wiki/

ปลานีโม่ (Nemo)

ปลาการ์ตูน (อังกฤษ: Clownfish, Anemonefish) เป็นปลากระดูกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Amphiprioninae ในวงศ์ปลาสลิดหิน (Pomacentridae)


ลักษณะ

เป็นปลามีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม, แดง, ดำ, เหลือง และมีสีขาวพาดกลาง ลำตัว 1-3 แถบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้จดจำคู่ได้ นอกจากนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่ตามแนวปะการังกับดอกไม้ทะเล

ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะ ของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่ จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลง
และจากการศึกษาพบว่า ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งยังพบด้วยว่า แม้ว่าปลาการ์ตูนจะถือกำเนิดห่างไกลจากที่กำเนิดเท่าใด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นหรือถึงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะว่ายฝ่ากระแสน้ำกลับมาวางไข่ยังบริเวณเดิมที่กำเนิด โดยอาศัยการดมกลิ่นจากกลิ่นของพืชที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งปลาจะมีความจดจำลักษณะเฉพาะของกลิ่นได้
 

ความสัมพันธ์กับดอกไม้ทะเล

ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะ คือ จะอาศัยอยู่ภายในดอกไม้ทะเลซึ่ง มีเข็มพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายกับปลาการ์ตูน เพื่อป้องกันตัว เป็นพฤติกรรมที่สัตว์ทั้งสองพึ่งพากัน ดอกไม้ทะเลมีหนวดยาวมากมายพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่วนร่างยึดติดกับโขดหินหรือปะการังเอาไว้ หนวดที่อ่อนนุ่มเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้หาอาหาร บริเวณปลายหนวดเต็มไปด้วยเข็มพิษจำนวนมหาศาล เมื่อมีปลาว่ายหลงผ่านมา ดอกไม้ทะเลจะใช้หนวดพิษทิ่มแทงเหยื่อให้เป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล ยกเว้นเพียงปลาการ์ตูน ที่เที่ยวว่ายหากินสาหร่ายเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ครั้นมีศัตรูมารบกวน มันจะรีบว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในกอดอกไม้ทะเล
นอกจากนี้แล้ว จากการศึกษาล่าสุดพบว่า ในเวลากลางคืนที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดน้อยลง ปลาการ์ตูนจะโบกครีบไปมาเพื่อให้เกิดกระแสน้ำไหลผ่านดอกไม้ทะเลเพื่อให้ ออกซิเจนอีกด้วย[4]
อันที่จริงแล้วปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่รู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลทีละน้อย ๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาปกคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ในที่สุด แต่ถ้าปลาการ์ตูนปราศจากเมือกอันนี้เมื่อใด ปลาก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้าย จนตายในที่สุด

การเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและการเพาะพันธุ์

ปลาการ์ตูนเป็นปลาทะเลที่เป็นนิยมอย่างมากในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากภาพยนตร์การ์ตูนของวอลต์ ดีสนีย์ เรื่อง Finding Nemo ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2003 แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ความนิยมในปลาการ์ตูนเพิ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะในหมู่เด็ก ๆ ซึ่งการได้มาของปลาการ์ตูนจะต้องไปจับจากในทะเล ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ และกระทบถึงสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งผู้จับจะใช้ตาข่ายหรือสวิงช้อนตัวปลาขึ้นมาใส่ไว้ในกล่องพลาสติกกล่องละตัว เพื่อป้องกันปลาต่อสู้กันที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลได้ ปลาที่อ่อนแอหรือไม่สมบูรณ์พร้อม จะถูกคัดทิ้ง
ปัจจุบันได้มีการเพาะพันธุ์ได้ตามศูนย์วิจัยต่าง ๆ ของกรมประมง หรือฟาร์มของเอกชนทั่วไปเพื่อจำหน่าย โดยสถานที่แห่งแรกที่เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้สำเร็จและถือเป็นแหล่งที่ใหญ่ ที่สุดในโลก คือ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ของประเทศไทย ที่นำโดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบัน โดยใช้วิธีการให้ปลาวางไข่กับแผ่นกระเบื้องเซรามิกในตู้เลียนแบบธรรมชาติ นับว่าได้ผลสำเร็จดี ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังคงวิจัยศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป

อ้างอิง: http://th.wikipedia.org/wiki/